ฟันเหยิน (overbite) ผ่าตัดรักษาหรือจัดฟันดีกว่ากัน

ฟันเหยิน (overbite) ผ่าตัดรักษาหรือจัดฟันดีกว่ากัน

ฟันเหยิน คือ อาการที่ฟันหน้าและกรามบนยื่นออกมาพ้นปากหรือไม่สามารถครอบปิดฟันหน้าด้านล่างได้  แม้ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอะไร หากไม่มีอาการมากจนเกินไป สาเหตุเกิดจากพันธุกรรมหรืออื่น ๆ เช่น กระดูกกะโหลกศีรษะหรือฟันผิดปกติ ผู้ที่มีอาการฟันเหยินอย่างรุนแรงหรือต้องการให้ฟันเรียงตัวสวยงามควรไปปรึกษาทันตแพทย์เพื่อเข้ารับการจัดฟัน แต่ฟันเหยินเพียงเล็กน้อยอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ

 

ฟันเหยิน
credit : https://burkeredfordorthodontists.com/

อาการฟันเหยิน

อาการฟันเหยินขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง ซึ่งอาจสังเกตได้จากรูปหน้าที่ผิดปกติ เช่น หน้าสั้น หน้ากว้าง หน้าอูม มีร่องใต้คาง เป็นต้น รวมทั้งอาจเห็นเหงือกขณะยิ้มหรือพูด พูดไม่ชัดเจน กัดหรือเคี้ยวอาหารลำบาก ส่วนลักษณะที่ปรากฏในช่องปาก ได้แก่ ฟันบนสบคร่อมฟันล่าง ส่วนโค้งบริเวณเพดานปากตื้น มีร่องซึ่งเกิดจากฟันหน้าล่างสบกับเพดานปาก หรือฟันหน้าล่างซ้อนเก

สาเหตุของฟันเหยิน

ฟันเหยินเป็นภาวะสบฟันผิดปกติที่ซับซ้อน ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุเดียวหรือหลายสาเหตุร่วมกัน ดังนี้

  • พันธุกรรม ฟันเหยินเป็นลักษณะหนึ่งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่นได้
  • ความผิดปกติของกระดูกใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ได้แก่ ความผิดปกติเกี่ยวกับกระดูกเบ้าฟัน กระดูกขากรรไกร ฐานกะโหลกส่วนหลัง
  • ความผิดปกติของฟัน เช่น ฟันหน้าขึ้นเบียดกัน การสูญเสียฟันหน้า รูปร่างฟันผิดปกติ เหงือกอักเสบจึงทำให้ฟันส่วนหลังเกิดการเคลื่อนตัวเบียดฟันส่วนหน้าจนยื่นออกมา เป็นต้น
  • ความผิดปกติของกล้ามเนื้อใบหน้า ความผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยวอาหารส่งผลให้กระดูกขากรรไกรล่างถูกดึงรั้งเข้าด้านใน กระดูกขากรรไกรบนจึงคร่อมกระดูกขากรรไกรล่าง
  • พฤติกรรมที่ทำจนเป็นนิสัย โดยเฉพาะพฤติกรรมในวัยเด็ก เช่น การดูดนิ้ว การดูดริมฝีปาก การใช้ลิ้นดุนฟัน เป็นต้น

การวินิจฉัย ฟันเหยิน

ทันตแพทย์มักวินิจฉัยฟันเหยินจากการตรวจดูการสบฟันของผู้ป่วย และอาจวินิจฉัยต่อด้วยการเอกซเรย์ช่องปาก การพิมพ์ฟัน และการเอกซเรย์กะโหลกศีรษะด้านข้าง ซึ่งช่วยให้ระบุได้ว่าภาวะนี้เกิดจากความผิดปกติของฟันหรือเป็นความผิดปกติของกะโหลกศีรษะ เพื่อวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

การรักษา ฟันเหยิน

ภาวะฟันเหยินเพียงเล็กน้อยอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงควรไปปรึกษาทันตแพทย์เพื่อเข้ารับการจัดฟัน โดยฟันเหยินในผู้ป่วยเด็กที่ฟันยังมีการเจริญเติบโตมักรักษาด้วยการใช้เครื่องมือจัดฟัน เพื่อดึงฟันส่วนหน้าให้ต่ำลงร่วมกับถอนฟันส่วนหลังออก แต่หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ควรรอให้เด็กโตขึ้นก่อนจึงทำการรักษา ส่วนผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นที่ยังมีการเจริญเติบโตได้อีกเพียงเล็กน้อย ทันตแพทย์มักรักษาด้วยการจัดฟันหน้า ซึ่งอาจต้องมีการผ่าตัดกระดูกขากรรไกรร่วมด้วย โดยมีรายละเอียดวิธีการรักษาฟันเหยิน ดังนี้

  • การใช้เครื่องมือจัดฟัน ได้แก่ เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่นและเครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ ซึ่งมีหลายชนิด เช่น เครื่องมือจัดฟันแบบโลหะ เครื่องมือจัดฟันด้านใน เครื่องมือจัดฟันแบบใส เป็นต้น โดยทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อดึงหรือดันให้ฟันเข้าที่

โดยการจัดฟันด้วยการดึงให้ฟันหน้าเข้าที่ต้องคำนึงถึงพื้นที่ว่างในช่องปากด้วย เพื่อให้ฟันเกิดการเคลื่อนตัวได้ และการจัดฟันด้วยวิธีนี้มักใช้รักษาฟันเหยินที่มีระยะห่างระหว่างริมฝีปากบนกับล่างมากเกินปกติ มีระยะห่างระหว่างขอบล่างของฟันตัดกลางบนกับขอบล่างของริมฝีปากบนมากเกินปกติ มีอาการยิ้มเห็นเหงือก หรือมีใบหน้ายาว เป็นต้น

ส่วนการจัดฟันด้วยการดันฟันกรามต้องคำนึงให้ช่องปากมีระยะห่างระหว่างฟันกรามบนกับล่างขณะหุบปากเพียงพอ ซึ่งการจัดฟันด้วยวิธีนี้มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีระยะห่างระหว่างริมฝีปากบนกับล่างเป็นปกติ หรือมีระยะห่างระหว่างขอบล่างของฟันตัดกลางบนกับขอบล่างของริมฝีปากบนเป็นปกติ และหากรักษาฟันเหยินด้วยการกดให้ฟันหน้าเข้าที่จะช่วยให้ผู้ป่วยยิ้มโดยไม่เห็นฟันได้ รวมทั้งอาจใช้รักษาฟันเหยินในกรณีที่มีความผิดปกติของกะโหลกศีรษะบางชนิดด้วย

  • การผ่าตัด ผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะวัยผู้ใหญ่อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดดึงกระดูกขากรรไกรบนเข้าหรือดึงกระดูกขากรรไกรล่างออก ซึ่งมักใช้รักษาฟันเหยินที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โดยเฉพาะผู้ที่กระดูกขากรรไกรบนยื่นออกมามากเกินไป หรือผู้ที่มีกระดูกขากรรไกรล่างส่วนท้ายยาว เป็นเหลี่ยม หรือมีระยะห่างระหว่างจมูกกับคางน้อยกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องมือจัดฟันและการผ่าตัดมักมีราคาแพง ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาทันตแพทย์ถึงค่าใช้จ่ายและแนวทางในการรักษาให้ดีก่อนตัดสินใจรักษาฟันเหยินด้วยวิธีต่าง ๆ สนใจการผ่าตัดขากรรไกร กดที่นี่ 

ภาวะแทรกซ้อนของฟันเหยิน

ฟันเหยินอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อ้าปากลำบาก เหงือกอักเสบ ข้อต่อขากรรไกรผิดปกติ ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดและมีเสียงดังขณะอ้าปากหรือหุบปาก ฟันหน้าล่างสบเข้าเพดานปาก ซึ่งทำให้มีอาการระคายเคืองและเจ็บปวด ฟันสึกจากการบดหรือการขบเน้นฟัน และปวดศีรษะ เป็นต้น

การป้องกันฟันเหยิน

ฟันเหยินเป็นภาวะการสบฟันผิดปกติซึ่งอาจเกิดจากพันธุกรรม จึงไม่มีวิธีการป้องกันที่แน่ชัด แต่อาจหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงทำให้โครงสร้างเหงือกและฟันผิดปกติได้ เช่น ไม่ดูดนิ้ว ไม่ดูดริมฝีปาก และไม่ใช้ลิ้นดุนฟัน หรือดูแลไม่ให้เด็กมีพฤติกรรมเหล่านี้ รวมทั้งเข้ารับการรักษาฟันเหยินตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็อาจช่วยลดระดับความรุนแรงของอาการ และทำให้การรักษาได้ผลเป็นที่น่าพอใจด้วย

อ้างอิง https://wmsmile.com/what-is-an-overbite-and-how-is-it-corrected/

Comment ( 1 )

  • สวัสดี นี่คือความเห็น
    เพื่อเริ่มการจัดการ การแก้ไขและลบความเห็น โปรดเข้าไปที่หน้าจอความเห็นในหน้าควบคุม
    รูปประจำตัวผู้แสดงความเห็นมาจาก Gravatar

Give a Reply

ข้ามไปยังทูลบาร์